แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของธนบุรี

ศาลเจ้าเกียนอันกง

                สร้างในสมัยธนบุรี โดยชาวจีนที่ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาสถาปนากรุงธนบุรี ต่อมาบรรพบุรุษของสกุลตันติเวชกุลและสกุลสิมะเสถียร ได้บูรณะและสร้างขึ้นใหม่ พร้อมอัญเชิญเจ้าแม่กวนอิมขึ้นประดิษฐาน ให้ชื่อว่าศาลเจ้าเกียนอันเกง มีความหมายว่า
วัดที่สร้างความสงบสุขให้แก่แผ่นดินและผู้มากราบสักการะ  

วัดกัลยาณมิตร


                เป็นวัดที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ ( โต ต้นสกุลกัลยาณมิตร ) ได้อุทิศบ้านพร้อมกับซื้อที่ดิน
เพิ่มเติม สร้างขึ้นแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร หมายถึง เพื่อนผู้มีกัลยาณธรรม พร้อมกันนั้นทรงพระราชศรัทธาร่วมสร้างพระวิหารหลวงและพระประธาน โดยมีงานประเพณีสำคัญที่สืบทอดกันมาปัจจุบันคือ
งานประเพณีทิ้งกระจาด

วัดซางตาครู้ส

                วัดซางตาครู้ส เป็นวัดคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ตัวโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานแบบนีโอคลาสสิคและเรเนอซองส์ อาคารก่ออิฐฉาบปูน หันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บานประตูหน้าต่างทำเป็นรูปไม้กางเขนตามชื่อวัด (ซางตาครู้ส มีความหมายว่ากางเขนศักดิ์สิทธิ์)ตัวอาคารเป็นแบบโบราณคือ ผนังอาคารทั้ง ๒ ด้านรับน้ำหนักของฝ้าเพดาน โดยมีคานยึดหัวเสากับผนัง ฝ้าเพดานเป็นคอนกรีตหล่อโค้ง มีช่องดาวเพดานที่สวยงามมาก 
มัสยิดบางหลวง ( กุฎีขาว )
 
 
                ตั้งอยู่ริมคลองบางหลวง โดยบรรพบุรุษแขกแพจากแถบหัวแหลมและคลองตะเคียนที่อพยพมาเมื่อคราวกรุงแตก แล้วมาตั้งเป็นหมู่บ้านบางหลวงขึ้น อาคารมัสยิดเป็นมัสยิดแห่งเดียวในโลกที่สร้างเป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นลายก้านแย่งใบฝรั่งเทศ มีอิหม่ามประจำมัสยิดมาหลายสมัย และเป็นศูนย์รวมปฏิบัติศาสนา มีการบรรยายธรรมเป็นประจำทุกวันศุกร์ 
วัดประดิษฐาราม

  

                    เดิมเป็นวัดในสวนมีชื่อว่า วัดบ้านสวน สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๒๙๓ ต่อมาบรรพบุรุษชาวมอญที่เป็นทหารเรือฝีพายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เรียกว่าทหารเรือหลวง หรือทหารเรือบ้านสมเด็จ ได้ชักชวนชาวมอญร่วมกันบูรณะวัดบ้านสวน แล้วเรียกว่า วัดมอญรามัญ และเปลี่ยนมาเป็น วัดประดิษฐาราม จนถึงปัจจุบัน






วัดบางไส้ไก่

                ในสมัยกรุงธนบุรี มีการกวาดต้อนเชลยศึกจากกบฏเมืองเวียงจันทร์เข้ามาแล้วให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณคลองบางไส้ไก่ เรียกกันว่าว่า หมู่บ้านลาว ต่อมาสร้างวัดประจำหมู่บ้านขึ้น ชื่อว่า วัดลาว ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อให้คล้องกับชื่อคลองคือ คลองสาวไก่ และเพี้ยนมาเป็นคลองบางไส้ไก่ในปัจจุบัน ในชุมชนแห่งนี้ ยังคงมีอาชีพที่สะท้อนภาพของวัฒนธรรมลาวก็คือการทำขลุ่ย และแคน เป็นต้น 
วัดอินทารามวรวิหาร

                เป็นวัดเก่ามีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งอาราม แล้วทรงสถาปนาขึ้นเป็นอารามหลวง โปรดเสด็จมาทรงศีล บำเพ็ญพระกรรมฐาน ประทับแรม
ณ วัดนี้ และเป็นสถานที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าตากสินและบรมราชชนนีไว้ ณ วัดนี้ด้วย
วัดบุคคโล
 
 
                เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๐ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยเจ้าฟ้าหญิงอุบลวรรณา ได้เสด็จฯ ทางเรือทอดพระเนตรเห็นวัดบุคคโลทรุดโทรม มากจึงได้ทรงพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระวิหาร และกุฏิพระสงฆ์ เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงเปลี่ยนนามวัดใหม่เรียกว่า วัดอุบลวรรณ แต่ชาวบ้านยังเรียกติดปากว่า วัดบุคคโล














วัดราชคฤห์วรวิหาร
 
              
                สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยพวกนายกองมอญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร อยู่ในแขวงบางยี่เรือ เดิมเรียกว่า วัดบางยี่เรือ หรือ วัดมอญ เพราะมีพระมอญจำพรรษาอยู่
ได้รับการบูรณะในสมัยกรุงธนบุรี โดยเชื่อกันว่า พระยาพิชัยดาบหัก แม่ทัพสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นผู้สร้างพระอุโบสถเดิม ซึ่งปัจจุบันคือพระวิหารใหญ่

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

 
                สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ( ดิศ บุนนาค) สร้างขึ้นแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง ในปี พ.ศ.๒๓๗๕ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า วัดประยุรวงศาวาส แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดรั้วเหล็ก เพราะมีรั้วเหล็กรูปอาวุธโบราณ เป็นกำแพง ถาวรวัตถุที่โดดเด่นในวัดนี้
ได้แก่พระบรมธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ ซึ่งถือเป็นเจดีย์แบบลังกาองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และอัฐิของคนในสกุลบุนนาค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น